ทีม Mahidol BCI Lab มหาวิทยาลัยมหิดล

มูลนิธิไทยคม มอบเงินสนับสนุน ทีม Mahidol BCI Lab มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 500,000 บาท ในการเข้าแข่งขันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการระดับโลก Cybathlon 2024

มูลนิธิไทยคม มอบเงินสนับสนุน ทีม Mahidol BCI Lab มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 500,000 บาท ในการเข้าแข่งขันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการระดับโลก Cybathlon 2024 เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และนำวิทยาการที่ได้จากการวิจัยมาพัฒนาเทคโนโลยี ให้มีประสิทธิภาพ และสามารถต่อยอดเพื่อใช้งานกับผู้พิการได้จริง

ทีม Mahidol BCI Lab จาก ศูนย์ปฏิบัติการเชื่อมต่อสัญญาณสมองและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการแข่งขันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ Cybathlon 2024 รอบคัดเลือก ณ สนาม SWISS ARENA เมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 25-27 ตุลาคม 2567 เข้าแข่งในประเภทควบคุมการแข่งขันรถด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Race:BCI) ซึ่งทีม MAHIDOL BCILAB สามารถคว้าอันดับสองของโลก ได้ในการแข่งขัน Cybathlon เมื่อปี 2020

ทางทีม ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้ ตลอดการแข่งขัน ทีมจะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันในเวทีระดับโลกครั้งนี้ เป็นแรงผลักดันในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป 

CYBATHLON CHAMPIONSHIP

การแข่งขันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ CYBATHLON CHAMPIONSHIP มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวความคิดจากกลุ่มนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีเพื่อพิการ ซึ่งต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากภาคการศึกษาไปสู่ยังภาคอุตสาหกรรม รวมถึงต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้พัฒนาเทคโนโลยีกับผู้ใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่งานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อการช่วยเหลือแก่สาธารณะชน

จากแนวความคิดดังกล่าวจึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง วิศวกรการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ จัดการแข่งขันประกวดเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการระดับโลกขึ้น (Cyborg Olympics) โดยมีนักวิทยาศาสตร์จากสหพันธ์กีฬาผู้พิการสากล ร่วมออกแบบการแข่งขันให้ได้มาตรฐานและมีความท้าทายแก่ผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการแข่งขันมีความคล้ายคลึงกับการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการจัดการแข่งขันในลักษณะนี้ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและผู้ใช้งานได้แสดงศักยภาพเทคโนโลยีของตนเองและความสามารถของผู้พิการในการใช้งานเทคโนโลยี และเพื่อแสดงให้สังคมเห็นถึงการให้ความสำคัญและความต้องการในด้านต่างๆ ของผู้พิการ โดยการแข่งขันทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และทดสอบความสามารถของเทคโนโลยีโดยปรับเปลี่ยนโจทย์ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ หลังจากจบการแข่งขันจะมีการประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยรวมถึงความร่วมมือเชิงพาณิชย์อีกด้วย

ศูนย์ปฏิบัติการเชื่อมต่อสัญญาณสมองและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์ปฏิบัติการเชื่อมต่อสัญญาณสมองและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
(https://www.facebook.com/bcilab) มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการและผู้สูงอายุ ตลอดถึงการนำเทคโนโลยีไปสู่การใช้งานจริง รวมถึงเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการสู่สาธารณะชน ผลงานที่โดดเด่นของทีมวิจัยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์ในปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น

1. อุปกรณ์ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยสัญญาณสมองเพื่อผู้พิการ
2. รถวีลแชร์ควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้าสมอง
3. อุปกรณ์เพื่อบำบัดอาการสมาธิสั้นด้วยคลื่นสมอง
4. อุปกรณ์ตรวจวัดระดับการนอนด้วยคลื่นสมอง
5. อุปกรณ์ตรวจวัดระดับความง่วงด้วยคลื่นสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ
6. อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้าสำหรับผู้พิการข้อเท้าตก
7. เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เพื่อช่วยพยุงร่างกาย เป็นต้น

ขณะเดียวกันทางทีมวิจัยฯ ได้เข้าร่วมการแข่งขันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการรายการต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแข่งขันเสมือนเป็นสนามทดสอบมาตรฐานที่จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้การวิจัยและพัฒนาทัดเทียมประเทศชั้นนำและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และเทคโนโลยีระหว่างผู้พัฒนาด้วยกัน

ที่มา รูปภาพ

https://www.facebook.com/bcilab

https://cybathlon.com