“การเรียนรู้มันไม่จํากัด เราจะไปทําอะไรก็ได้ ขอให้มีความกล้า ขอให้มีความพยายามก็พอ”
.
“กล้าที่จะเรียนรู้” คือคำธรรมดาคำหนึ่งที่พาให้ นุ๊ก – จารุวรรณ คำเมือง จากโครงการบ้านสามขา ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิไทยคมจนจบปริญญาตรี และเธอได้นำองค์ความรู้ต่างๆนั้น มาทำตามความฝัน อีกทั้งยังสามารถสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้ด้วย กับการนำวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นอย่างฟางข้าว มาแปรรูปใหม่เป็นผลิตภัณฑ์กระดาษฟางข้าว ในชื่อ บริษัท ฟางไทย แฟคทอรี่ จำกัด ส่งออกเยื่อกระดาษฟางข้าวไทย และได้รับการยอมรับในเวทีสิ่งแวดล้อมระดับโลก
มาร่วมแบ่งปันมุมมองผ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ อดีตครูชำนาญการพิเศษ กศน.ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง Facilitator ที่ทำงานร่วมกับชุมชนบ้านสามขามานานกว่า 20 ปี มาแบ่งปันเรื่องราวในบทความนี้กัน
ที่โรงเรียนบ้านสามขา จังหวัดลำปาง ตอนเขา (นุ๊ก – จารุวรรณ คำเมือง) อยู่ชั้น ป.6 ผมถามว่า “มีใคร อยากจะเรียนครูบ้าง”ทั้งชั้นมีอยู่ 2 คนที่ยกมือ ถามครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นเช่นนั้น ก็เลยปรึกษาคุณพารณ (พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา)
.
“หาทุนส่งเด็กคนนี้ไปเรียนโรงเรียนดี ๆ ในกรุงเทพไหม”
.
ท่านก็กรุณาไปติดต่อ ให้เด็กคนนี้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ เพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ในที่สุดเขาก็เข้ามหาวิทยาลัยได้ และก็ออกมาทํางานที่โรงเรียนบ้านสามขา แรงบันดาลใจของเขาก็คือ อยากจะเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษ เหมือนอาจารย์ศรีนวล เพราะเขาเรียนภาษาอังกฤษได้ดีก็เลยเข้ามาทํา ในที่สุดเขาก็พบว่า การเป็นคุณครูนี่ไม่ใช่ตัวเขาแล้ว
.
“งั้นเราก็เปลี่ยนได้สิ”
.
การที่เราตั้งใจจะเป็นคุณครู แต่วันหนึ่งมาทําแล้วรู้ว่ามันไม่ใช่ เขาก็ปรึกษาหารือกับสามีเขา ซึ่งเป็นวิศวกรว่าเราหันไปทําอุตสาหกรรมกันดีกว่าไหม เขาก็บอกว่า
.
“ชาวนาเนี่ยปลูกข้าวเสร็จแล้วก็ปล่อยฟางข้าวไว้ให้วัวควายกินหรือไม่ก็เผาทิ้ง ทําไมเราไม่เอามาใช้ประโยชน์อย่างอื่น ถ้าเราเรียนมาขนาดนี้แล้วยังกลับไปทํานาอยู่ มันคงไม่ใช่แล้วมั้ง มันไม่ใช่ตัวเราแล้วเนอะ ออกมาเป็นคุณครูก็ไม่ใช่ จะไปทํานาเหมือนปู่ย่าตายายก็ไม่ใช่ คิดใหม่ทําอะไรดีก็เอาฟางข้าวเนี่ยแหละมาทําเป็นเยื่อกระดาษ”
.
ใช้ระบบอุตสาหกรรม ส่งไปขายต่างประเทศ เป็นนวัตกรรมจากชุมชนบ้านสามขา ที่มาจากสองสามีภรรยา น่าชื่นชมมากเลย
ถ้าเรามีความกลัว เราก็จะไม่กล้าลองอะไร เราก็จะเดินตามทางที่คนบอก โดยถือว่าเป็นทางที่ถูกต้อง ไม่เสี่ยง จากนั้นเราก็จะไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากคนอื่น และการเรียนรู้ประเภทนี้ ง่ายมาก เพียงแค่อ่านหนังสือ ฟังบรรยายแล้วลองทําดู เราไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้าหากมีอะไรที่มันไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ความหมายของโครงงานก็คือ งานที่ทํานั้น มันจะต้องมีเป้าหมายเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าต้องทํายังไง เขาบอกแต่เพียงว่ามีเป้าหมาย เป้าหมายก็เปลี่ยนได้ ถ้าพยายามถึงที่สุดแล้วมันไม่ได้ ก็เปลี่ยนได้ แสดงว่าเป้าหมายนี้ก็ไม่ถูกเหมือนกัน
.
เราก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ไปว่าอะไรผิดอะไรถูก บางทีบางเรื่องต้องใช้เวลาเยอะ กว่าที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้แบบทฤษฎี Constructionism คือการคิดแล้วก็ลองทำ เราจะพบเองว่า “อะไรที่ใช้ได้ อะไรที่ใช้ไม่ได้” จากนั้นก็แก้ไขมัน ทำให้เราก้าวพ้นจากสิ่งที่ไม่เคยทำหรือจากความกลัวในอดีต และมันช่วยปรับทัศนคติเราไปด้วยในตัว
#lifelonglearning #การเรียนรู้ตลอดชีวิต
#globalcitizen #พลเมืองโลก
#thaicomfoundation #มูลนิธิไทยคม
#ตื่นรู้คิดได้ทำเป็น