การสร้างไอเดียและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม เริ่มที่การมีพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟัง “Power of Empathic listening for Initiators”

เราควรมีทักษะ หรือ แนวทางอย่างไร ที่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้มีความโดดเด่นและไปสู่เวทีโลกได้

เบสท์ : ส่วนตัวคิดว่าปกติ Eyedropper Fill เริ่มทำงานจากงานเรื่องส่วนตัว และเริ่มคิดว่าเวลาจะเริ่มทำงาน 1 ชิ้น จะเริ่มจากเรื่องส่วนตัว หรือ จากเรื่องที่เราประสบพบเจอกับตัวเอง เพราะว่า อย่างแรก ทำให้เราโฟกัสกับประเด็นนี้นานขึ้น และ ทำให้เราอยู่กับประเด็นนั้นจริง ๆ โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องส่วนตัวสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องของคนอื่น ๆ ได้เสมอ เพราะเราเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ และคิดว่างานทุกชิ้นจะใช้กระบวนการ เริ่มต้นโดยที่คิดถึงเรื่องของ Personal Story ที่สามารถเชื่อมโยงกับ Universal Story ได้ เลยคิดว่า ถ้าอยากทำงานให้ไปถึงเวทีโลก เราควรจะเริ่มจากงานที่เรารู้สึกกับมันจริง ๆ ก่อน หรือว่า อยากจะลงมือทำจริง ๆ

ในมุมมองของ Eyedropper Fill มีมุมมองอย่างไรในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการฟูมฟักไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง

เบสท์ : ถ้าพูดถึงในเรื่องของพื้นที่ปลอดภัย เราคิดว่าความเป็นจริงแล้ว เราเติบโตมาในสังคมของประเทศไทยที่เรารู้สึกว่าพื้นที่ปลอดภัยค่อนข้างหายากในสังคม โดยสังคมในทีนี้รวมไปถึง ความสัมพันธ์แบบครอบครัว เพราะบางครั้ง เมื่อเราทำผิดมา เราจะไม่กล้าบอกไปตามตรง หรือ ในความสัมพันธ์แบบโรงเรียนที่มีบทบาทในช่วงวัยเด็ก ก็จะมีกฎระเบียบมากมาย ค่านิยมที่หลากหลาย รวมไปถึงสังคมระบบใหญ่ขึ้นมา เมื่อพูดถึงพื้นที่ปลอดภัยสำคัญอย่างไร เราเชื่อว่า ถ้ามีพื้นที่หนึ่งที่ไม่ตัดสิน และสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็น เราคิดว่า ถ้ามีพื้นที่นี้และเราสามารถได้ใช้ตัวเองในการค้นหาว่า True-Self หรือ True-Voice เสียงข้างในที่ถูกกดทับโดยสังคม ความจริงแล้วมีเสียงและหน้าตาอย่างไร จะช่วยให้คนเหล่านั้นเข้าใจตัวเองมากขึ้น ถ้ายกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น ชิ้นงานของ Eyedropper Fill ทุกชิ้น จะเน้นกระบวนการช่วง Pre-Production คือช่วงที่เรา Re-Search หาข้อมูล เราจะเน้นพื้นที่ของการรับฟังเสียงของคนกลุ่มเหล่านั้นมาก ๆ ตัวอย่างเช่นการทำงานในพื้นที่คลองเตยที่ผ่านมา เราใช้กระบวนการของศิลปะ ในการให้เด็กได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ประสบพบเจอ ปมรากชีวิต และสังคมที่กดทับเขา ความเป็นจริงเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่คนเหล่านั้นได้เจอ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ประสบความสำเร็จ เพราะทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้ยินเสียงของตัวเอง ในขณะที่เราเป็นนักออกแบบการสื่อสารได้แปลงเสียงเหล่านั้นเป็นนิทรรศการ ภาพยนตร์ หรือ สื่อต่าง ๆ โดยแปลงจากชุดข้อมูลที่เป็น True-Self หรือ True-Voice ของกลุ่มคนเหล่านั้นมาเป็นการสื่อสาร ที่ทำให้กลุ่มคนอื่น ๆ ได้สามารถรับฟังและเข้าใจเสียงของคนเหล่านั้นมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่างานมีเดียเหล่านี้ไม่ได้ทำงานกับกลุ่มคนที่เราทำงานด้วย แต่ในมุมมองของฝั่งผู้ชมผมคิดว่าในขณะที่รับชมสื่อบางประเภท เขาได้ฟังเสียงของตัวเองหรือได้เห็นตัวเองในเรื่องราวของคนอื่นด้วย ท้ายที่สุด ถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัยที่มีคุณภาพของความไม่ตัดสินและคุณภาพของพื้นที่การรับฟังจะช่วยให้สังคมเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความแตกต่างหลากหลายจะอยู่ร่วมกันได้ในสังคมนี้

นัท : คุณภาพของพื้นที่ปลอดภัยอย่างที่เบสท์พูด โดยต้องเป็นที่ที่สามารถสร้างไอเดียใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา จำเป็นต้องมีความปลอดภัยจริง ๆ คือการได้สื่อสารเสียงของตัวเองออกไป ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม เช่น ศิลปะ หรือ ไอเดียด้านอื่น ๆ ในส่วนของพื้นที่ นอกจากเป็นบ่อพักแล้ว ควรจะมีคุณภาพอีกอย่าง คือ ไม่ควรกดทับ หรือ ซ้ำเติม จากที่เป็นบ่อพักแล้วเรานำทุกสิ่งทุกอย่างใส่ลงไปในนั้นแล้ว และสุดท้ายเราถูกปิดปากไม่ให้สื่อสารสิ่งนี้ หรือ ว่าโดนตัดสินว่าสิ่งนั้นสมควรหรือไม่สมควร ผมรู้สึกว่าในส่วนนี้จะบั่นทอนความปลอดภัยในส่วนนี้ออกไป ส่วนตัวผมคิดว่าความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ที่จะแสดงออกในความเป็นตัวเองนั้นที่หาได้ยาก พอเมื่อเป็นแล้วมาโดนตัดสินหลังจากที่เราแสดงออกในความเป็นตัวเอง จะทำให้กำลังใจของการสร้างหมดไปหรือยากขึ้น ซึ่งในสิ่งนี้จะไม่เป็นผลดีในอนาคต ที่เราอยากจะให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มาเป็นคนสร้างอนาคตไปพร้อม ๆ กับเรา

การรับฟังสำคัญอย่างไร ที่จะไม่ถูกกดทับความเป็นตัวตน

เบสท์ : เราว่าการรับฟัง ถ้าเริ่มจากการรับฟังตัวเองเป็นเรื่องที่เหมือนจะง่าย แต่ว่าแรงเสียดทานทางสังคมที่เราเติบโตขึ้นมา ทำให้เราไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยที่จะรับฟังเสียงของตัวเอง ยกตัวอย่าง ครอบครัว ทำให้เราไม่เห็นเสียงตัวเองที่ชัดเจน เมื่อเราไม่ได้ยินเสียงตัวเองที่ชัดเจน ผลที่ตามมาคือ เราไม่เข้าใจตัวเอง เมื่อเราไม่เข้าใจตัวเองจะทำให้การเริ่มต้นที่จะทำอะไรบางสิ่งใน
ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงาน การมีความสัมพันธ์ หรือ อย่างไรก็ตามจะทำให้จุดเริ่มต้นไม่แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราทำงานออกแบบในกระบวนการ Design Thinking จุดแรกคือการ พยายามทำความเข้าใจด้วยการฟัง เราคิดว่าถ้ารูปแบบนี้สามารถใช้ได้กับทุก ๆ ส่วนของชีวิต มากไปกว่าการทำงานที่รวมถึงความเป็นตัวเอง ที่ต้องมารับฟังตัวเองว่าเราต้องการสิ่งใด เรามักจะพูดกันบ่อย ๆ ในเวลาเราทำงาน ถ้าเรานำข้อจำกัดทุกอย่างออกไปหมด เช่น เรื่องของงบประมาณ กฎหมาย ขอบเขตข้อจำกัดทางสังคม ถ้ามีพื้นที่เหล่านั้นจริง คุณอยากจะทำอะไรในพื้นที่เหล่านั้น อยากจะมีความฝัน หรือสิ่งใดที่ถูกกดทับและไม่เคยถูกพูดถึงบ้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ผมคิดว่า เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกแปลงเป็นงานสื่อสาร เราคิดว่าสิ่งนั้นจะทำงานกับกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายว่า กลุ่มคนเหล่านั้นได้มาเปิดใจรับฟังเสียงเหล่านี้ของตัวเองด้วย ซึ่งผมคิดว่า ความสำคัญของการฟังคือความเข้าใจในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นรับฟังตัวเองหรือในระดับสังคม

นัท : บทบาทที่เราคุยกันไป เราพยายามที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมา เหมือนที่กล่าวมาว่า จำนวนพื้นที่ปลอดภัยนั้นน้อยมากในสังคม เราเลยจำเป็นต้องเว้นระยะห่างไว้เสมอในชิ้นงาน ซึ่งเราพูดกันบ่อย ๆ ว่า งานของ Eyedropper Fill ถ้าไม่มีคนเข้ามา คืองานเรายังไม่เสร็จ ไม่ใช่ว่าเราสร้างชิ้นงานขึ้นมาและจัดแสดงที่ไหนก็ได้และรู้สึกว่างานเราเสร็จแล้ว เมื่อมีคนเข้ามารับชม มีปฏิสัมพันธ์ และรู้สึกกับผลงานเหล่านั้น จะทำให้มันมีชีวิตขึ้นมา ซึ่งในส่วนนี้เราพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายของเรา และหลังจากนั้นเราได้สร้างสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่ให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกคนเข้ามารับชมผลงานของเรา ไม่ว่ารับชมแล้วจะรู้สึกอย่างไร ในส่วนนี้เขาจะได้ทำการบ้านกับตัวของเขาเองในแง่ของการถอดบทเรียนให้กับตัวเอง สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า ในสังคมเราไม่ค่อยมีพื้นที่หรือช่วงเวลานั้น ๆ เพราะเน้นไปข้างหน้าอย่างเดียวจนเราลืมเว้นพื้นที่เพื่อหยุดและทำความเข้าใจด้วย เราจึงมีพื้นที่ในการเว้นระยะห่าง ให้เกิดกระบวนการนี้ด้วยตัวเอง และ กลุ่มเป้าหมาย ที่อยู่ในผลงานของเราด้วย                                                                                                              

ในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย การที่เราจะพัฒนาตัวเองให้ทันโลกเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจำเป็นต้องเข้าใจตัวเองเป็นอันดับแรก เมื่อเข้าใจตัวเองแล้วเราจึงจะสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ เราควรมี Skill หรือ Mindset อย่างไรให้สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้

เบสท์ : ส่วนตัวคิดว่า เมื่อเราต้องการประสบความสำเร็จได้ เราต้องมีเวลาของมัน ผมสังเกตคนรอบ ๆ ตัว รวมถึงตัวผมเองด้วย ที่บางครั้งเรา Push too hard เราต้องตามทันโลกอยู่ตลอดเวลา บางครั้งทำให้เราไปไม่ถึงจุดที่เราตั้งเป้าหมายไว้ เรา Mental Breakdown ก่อน ผมรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ และ เป็นสิ่งที่สำคัญในช่วงนี้ คือ การพักให้เป็น การมีพื้นที่ว่างให้เราได้หยุดและใช้ช่วงเวลาเหล่านั้นให้ตัวเอง ผลสำเร็จนี้จะเห็นได้ในระยะยาว เรามองว่า การเปลี่ยนแปลงที่เน้นย้ำ หรือ กดดันตัวเอง เพื่อให้บรรลุในสิ่งที่เราต้องการ โดยในจุด ๆ นั้นเราจะล้มเหลวก่อนไหม ทำให้เราคิดว่า การพัก หรือ การ Balance อะไรบางอย่างในชีวิตจะช่วยให้เราอยู่กับสิ่งที่เรารักได้นาน ๆ โดยผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้อง Push too hard ไปตลอด และ รวมถึงการเรียนรู้ที่จะปฏิเสธให้เป็น กับสิ่งที่เราไม่ไหวจริง ๆ

นัท : พอช่วงเกิดกระแสช่วง Productive หรือ กระแสการเรียนรู้ทักษะสิ่งใหม่ ๆ (Learning New Skills) เข้ามามีบทบาท ทำให้เราทำสิ่งเหล่านั้นเกินข้อจำกัดของตัวเอง ถ้าเปรียบเทียบกับการเป็นนักวิ่ง คือ การลืมว่ากำลังขาของเราวิ่งได้มากน้อยแค่ไหน และเวลาจะจบเมื่อไหร่ เพราะเรามีคำว่า Lifelong Learning รอไว้เป็นอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่าความเป็นจริงแล้วพวกเรารู้อยู่แล้วกับการที่เราต้องใช้ชีวิตให้ก้าวทันโลกและอยู่ในโลกที่จำเป็นต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาที่ไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้ แต่ปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยเคล็ดลับต่าง ๆ ที่ทำให้เราต้องเหวี่ยงหมัดขึ้นสังเวียนตลอดเวลา ทำให้ลืมข้อจำกัดของตัวเราเอง ส่วนเรื่องของ Skill หรือ Mindset อะไรที่ควรจะมี ผมคิดว่าการมี Hard Skills หรือ Soft Skills อยู่ในตัวตนของทุกคนอยู่แล้ว ส่วน Mindset ของเรามี Growth Mindset กันอยู่แล้ว เพราะพวกเราทุกคนถ้ารู้สึกกับคำถามเหล่านี้ คือ ทุกคนเร่งกันอยู่แล้ว รู้ว่าตัวเองต้องเติบโตอยู่แล้ว การที่เราหยุดและมีช่วงเวลาที่จะพักใจพักกายตัวเองด้วย ในแบบที่ไม่ต้องมองว่า เราต้องเป็นอายุน้อยร้อยล้าน อีกไม่นานเราจะต้องเข้าสู่สังคมตลาดหุ้น วางแผนชีวิตตัวเองอยู่ตลอดเวลา และใช้เวลาทั้งหมดไปกับการไล่ตามสิ่งที่ตัวเองวางแผนเอาไว้ ผมคิดว่าในส่วนนี้ต้องนำสิ่งที่ล้าสมัยในเรื่องของ Work Life Balance กลับมาเพื่อให้เป็นส่วนช่วยให้เราสามารถทำสิ่งที่เราต้องการโดยไม่ทำร้ายร่างกายตัวเองไปเสียก่อน

Work Smart และ เข้าใจตัวเอง ในมุมมองของ Eyedropper Fill

นัท : ถ้านำไปเปรียบเทียบกับการวิ่งจะเห็นรูปแบบที่เฉพาะของตัวเอง ว่า แต่ละคนจะมีรูปแบบของตัวเอง อย่างที่บอกไปไม่ว่าจะเป็นคำว่า Work Hard / Play Hard / Work Smart หรือว่าจะเป็น Work Life Balance ต่าง ๆ เหมือนเป็นคำบัญญัติขึ้นในวิธีการการใช้ชีวิต ผมรู้สึกว่าแต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลายเหมือนกัน บางคนชอบการวิ่งระยะสั้น ไปให้ถึงเป้าหมายให้เร็วที่สุด ใช้เวลาพักให้นานที่สุด และวิ่งต่อไปอีก หรือบางคนชอบวิ่งด้วยความเร็วที่ช้า ถึงเป้าหมายช้ากว่าคนอื่น เพราะว่าศึกษาข้อจำกัดของตัวเองมาแล้ว โดยแต่ละคนมีวิธีการวิ่งหรือวิธีในการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน นอกจากการที่เรารองรับความหลากหลายของหลาย ๆ อย่างในสังคมแล้ว ถ้าเราทุกคนได้รับฟังตัวเองแล้ว และ มาตรวัดของประเทศได้รับฟังคนเหล่านั้นแล้วจริง ๆ จะรู้ว่า วิธีการที่จะสื่อสารกับคนอื่นจะมีความหลากหลายมากขึ้น ณ ปัจจุบัน ความแตกต่างหลากหลายแทรกอยู่ในทุกอณู การที่เรารู้ตัวเราเอง เราจะรู้แล้วว่ารูปแบบของเราเป็นอย่างไร จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายโดยที่เราไม่ Burnout ไปเสียก่อน

จุดเปลี่ยน และการเผชิญหน้ากับความกดดันจากความเปลี่ยนแปลง

เบสท์ : ช่วงเปลี่ยนผ่านของ Eyedropper Fill จากที่เราทำงานเป็นระยะ 10 ปี จากงาน Commercial จากงานที่สร้างประสบการณ์ เมื่อได้เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบงานเชิงสังคม ผมจำได้ว่าช่วงหนึ่งใช้เวลาเกือบปีในการสื่อสารกันในองค์กร โดยใช้กระดาษโรลยาว ๆ เพื่อสื่อสารกันให้เข้าใจกับ 10 ปีที่ผ่านมาของตัวเอง ว่าความเป็นจริงแล้ว “เราคือใคร? เราทำอะไร?” ในช่วงเวลาเรานี้ทำให้กลับมาฟังเสียงของตัวเอง ว่าเสียงของเราสนใจอะไรจริง ๆ ผมใช้วิธีนี้กับงานออกแบบของตัวเองรวมไปถึงส่วนของการออกแบบบริษัทให้ตัวเอง โดยการรับฟังตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราไม่ใช้ข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย ขอบเขตของสังคม รวมถึงอายุของเราที่ถูกความคาดหวังจากครอบครัวหรืออะไรหลาย ๆ อย่าง จริง ๆ แล้ว เราอยากทำอะไร เราสนใจอะไร ซึ่งผมคิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเอง เมื่อเจอกับสภาวะทางสังคมที่เข้ามามีบทบาทกับเรามาก ๆ สิ่งที่จะทำให้เราไปต่อได้คือการกลับมานั่งฟังเสียงของตัวเองบ่อย ๆ กระบวนการฟังเสียงตัวเอง และ ทำความเข้าใจกับตัวเองกับจุดยืนของตัวเอง ผมว่าในส่วนนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เราสามารถเริ่มต้นต่อจากจุดนั้นไปได้ และ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ Eyedropper Fill เปลี่ยนแปลงตัวเองภายในระยะเวลาอันสั้น และมีเส้นทางเป้าหมายที่ชัดเจนที่ทำให้หล่อเลี้ยงทำให้เราสามารถทำในสิ่งที่เราต้องการต่อไปได้เรื่อย ๆ

Mental Health เป็นสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจและเรียนรู้ สิ่งนี้สำคัญอย่างไรในยุคปัจจุบัน เมื่อเรากำลังเผชิญหน้ากับสภาวะ Burnout กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือ หมดกำลังใจกับสิ่งรอบข้าง

นัท : ตอนนี้โลกของเราปฏิเสธไม่ได้ว่า Gen X เริ่มกลายเป็นผู้สูงอายุ จุดที่ขับเคลื่อนอยู่คือในทุกวันนี้คือ Gen Y และ ณ ตอนนี้ได้เกิดคำใหม่ขึ้นมาคือ “Sandwich Generation” คือ Gen Y เปรียบเสมือนเนื้อที่อยู่ตรงกลางที่ถูกบีบอัดด้วยขนมปังทั้งสองข้าง คือ Gen X และ Gen Z และ Gen Alpha ทั้งสองอย่างถูกบีบอัดมาไว้ที่จุดกลาง คนที่อยู่ใกล้กับความเป็นตรงกลางได้มากที่สุดไม่ใช่แค่ Gen เสมอไป ไม่ว่าจะคุณสมบัติของครอบครัว บางครั้งเป็นคน Gen Z แต่บทบาทที่ต้องแบกรับทุกสิ่งทุกอย่าง คนเหล่านั้นไม่ใช่แค่เป็นขนมปังที่บีบจากข้างล่างอย่างเดียว แต่ถูกแรงกดดันด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดภาวะ Burnout หรือรู้สึกเหนื่อยตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นแล้ว พวกเราเองเลยรู้สึกว่าที่เราพูดคุยกันมาทั้งหมดในเรื่องของการเว้นวรรคเพื่อคุยกับตัวเอง เพื่อเข้าใจตัวเอง และเมตตากับตัวเองบ้าง ถ้าเราเข้าใจกลุ่มคนที่ทำอะไรแล้วรู้สึกว่าไม่พอ ไม่สำเร็จ หรือรู้สึกว่าต้องการทำต่อไปเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วัน จะไม่แปลกที่วันหนึ่งเขาเหล่านั้นจะพลังงานหมดระหว่างทางไปก่อน นอกจากเราเข้าใจตัวเองแล้ว มีเมตตาตัวเองแล้ว เราจะเริ่มเข้าใจและมีเมตตากับคนที่ใกล้เคียงหรือเหมือนกับเรา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจว่า เราเองไม่ได้เป็นแบบที่เรากำลังเป็นอยู่แค่คนเดียว ทุกคนต่างมีภาวะนี้เหมือนกัน พอเข้าใจกันจะเกิดสังคมเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดการสนับสนุนกันและกัน ผลที่ตามมาจะช่วยให้ทุก ๆ อย่างสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ไม่ได้บั่นทอนชีวิตเราออกไป

เบสท์ : ผมว่าเป็นเรื่องการรับฟังตัวเอง ได้ยินเสียงตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ จะทำให้รู้ว่า เราสามารถมีกำลังพอที่สามารถไปต่อได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าทุกคนมีสภาวะนี้หมดรวมถึงตัวผมด้วยในสถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าช่วงเวลาเหล่านั้นทำให้ Eyedropper Fill ได้หยุดพักเพื่อหาข้อมูล หยุดที่จะบั่นทอนตัวเองในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อเราทำมาถึงจุดหนึ่งแล้ว เราควรให้รางวัลกับตัวเองบ้าง สิ่งนี้ทำให้ผมสามารถทำงานต่อไปได้ ส่วนตัวผมคิดว่าเราควรหาเวลาผ่อนปรนกับตัวเองบ้าง หรือว่าถ้าเราทำพลาดก็ไม่ต้องจมกับสิ่งเหล่านั้นจนไม่สามารถทำอะไรต่อไปได้ ซึ่งผมยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่เราก็สามารถผิดพลาดหรือเหนื่อยได้ ถ้าสิ่งเหล่านี้อยู่ใน Mindset ของคนรุ่นต่อไป นอกจากกดดันตัวเองน้อยลงแล้ว จะทำให้กดดันคนอื่นน้อยลงตามไปด้วย

นัท : หลาย ๆ คนที่ฟังอาจจะคิดว่า โลกสวยหรือไม่อย่างไร แต่ความเป็นจริงแล้ว การรับฟังตัวเราเอง หรือ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นการยอมรับจากมุมมองที่สดใสอย่างเดียว จริง ๆ แล้วการเห็นอกเห็นใจตัวเอง เมตตาตัวเองในแบบที่เรารู้ว่าเราทำอะไรไม่ถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เรารู้ว่าจุดไหนเราทำพลาดและเรียนรู้ไปกับสิ่งเหล่านั้น เราแค่เห็นข้อจำกัดของตัวเราเอง และ มีสติกับการที่เรากดดันตัวเอง รวมถึงการตั้งเป้าหมายที่ทำให้เราไม่ได้บั่นทอนตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น ผมมองว่าการเห็นอกเห็นใจตัวเองไม่ได้หอมหวานหรือมีแต่ด้านมุมมองที่สดใสอย่างเดียว เพราะเราจำเป็นต้องเดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ และเวลาจะพาเราเติบโตไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน เราอาจจะหยุดเดินในขณะนั้นไม่ได้ แต่เรามีช่วงเวลาที่เราจะหยุดพักได้เช่นกัน

วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย / นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล

ผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill

#Thaicomfoundation

#มูลนิธิไทยคม

#TCFGlobalCitizen