เสริมสร้าง Soft Power ผ่านการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่แสดงความเป็นตัวตน

แนวคิดของแอปพลิเคชัน “ฟังใจ”

ที่มา คือ อยากสร้างพื้นที่ให้นักดนตรีรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงออก โดยที่พยายามลดขั้นตอนัทเและข้อจำกัดในการเผยแพร่ผลงานตัวเองให้ได้น้อยที่สุด ช่วงที่เราทำ “ฟังใจ” ต้องบอกว่าสื่อที่ทำดนตรีเคยถูก Gatekeeper อยู่ในระดับนึงในการสร้างสรรค์ผลงานและผลิตผลงานออกมา ก็จะมีช่องทางที่เป็น Traditional Media อยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งจะมี Airtime จำกัด ดังนั้นจะต้องมีการคัดเลือกว่าวงดนตรีวงไหน หรือ เพลงอะไร ที่จะได้รับเลือกมานำเสนอ เมื่อมาอยู่ในยุคของ Digital หรือ ยุคที่มี Social media จะมีคำหนึ่งคำที่เราเชื่อ คือ “ประชาธิปไตยทางดนตรี” เราอยากให้วงดนตรีทุกวง และ เพลงทุกเพลง ได้มีโอกาสถูกค้นพบเท่ากัน เลยทำแพลตฟอร์มส่วนนี้เข้ามา คือการจัดรูปแบบให้ ไม่ได้ให้น้ำหนักความสำคัญกับวงใดวงหนึ่ง หรือ แนวเพลงใดแนวเพลงหนึ่ง หรือ Trends ของดนตรีใดดนตรีหนึ่งเฉพาะ แต่เราให้อิสระกับผู้ฟัง ในการเข้าถึงบทเพลงที่อยากฟังด้วยตัวเอง โดยหลักการในการจัดเพลย์ลิสต์จะไม่ได้จัดเลือกเฉพาะวงที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว แต่จะเป็นการสร้างให้การค้นพบมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยให้ศิลปินที่มีฐานชื่อเสียงอยู่แล้วมารวมกับศิลปินใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ฟังได้ค้นพบดนตรีในสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ โดยให้เท่าเทียมที่สุด

การมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสดงความเป็นตัวตน สำคัญอย่างไรในการส่งเสริม Soft Power ของประเทศ

 พื้นที่ส่วนนี้สำคัญมาก ๆ ผมมองว่าเป็น 3 เรื่องหลัก ๆ ที่จะทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญ

       ประการแรก คือ เป็นพื้นที่ที่ให้ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรี ได้แสดงออกผลงานออกมา จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับผลตอบรับ ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้จากการปล่อยผลงานจากพื้นที่เหล่านั้น ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี สิ่งไหนควรปรับปรุง ผลตอบรับเหล่านั้นจะทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นสามารถค่อย ๆ พัฒนาตัวเองต่อไปได้

       ประการที่สอง คือ การสร้างฐานผู้สนับสนุนผลงาน เป็นการศึกษาถึงลักษณะของผลงานที่สร้างว่าตอบโจทย์เข้าถึงผู้สนับสนุนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการติดตามผลเหล่านี้จะต่อยอดไปยัง ประการที่สาม คือ การสร้างรายได้จากการผลิตผลงาน ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างหรือโฆษณาว่าลักษณะของการสร้างผลงานที่อาจต้องมีการสมัครสมาชิกเพื่อเข้าไปดูผลงานที่เราสร้างขึ้น ดังนั้น การมีพื้นที่เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งในปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่มีพื้นที่มากมายสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานหลายประเภท ให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ได้มาปลดปล่อยผลงานของตัวเอง

แนวทางการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มี Initiative (ความคิดริเริ่ม) ในแบบของตัวเอง

ผมมองว่า คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องผลักดันอะไรมากมาย ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่มีความสามารถที่หลากหลายในการอยากทำสิ่งที่ต้องการอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลงาน การเป็นผู้ประกอบการหรือการเปิดร้านขายของของตัวเอง การริเริ่มไม่ใช่ปัญหามากกว่าการเริ่มแล้วจะสร้างความต่อเนื่องได้อย่างไรส่วนนี้มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เรื่องของการมีพื้นที่ทั้งโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ที่ทำให้ได้แสดงออก โดยส่วนตัวผมเองที่อยู่กับวงการดนตรี เป็นที่แน่นอนว่าการทำสร้างผลงานเพลงและการปล่อยเพลงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ฟังใจ เป็นเพียงหนึ่งแพลตฟอร์ม แต่ยังมีแพลตฟอร์มอีกมากมายมหาศาลที่เป็นพื้นที่ในการปล่อยผลงานได้ด้วยตัวเองแบบไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม แต่ในโลกออฟไลน์จะมีความท้าทายมากขึ้น ถ้าไม่มีพื้นที่ที่สามารถปล่อยผลงานได้อย่างต่อเนื่องหรือเป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดน้อยลงในการแสดงออก ซึ่งพื้นที่ออฟไลน์ในประเทศเรายังมีข้อจำกัด ถ้ามองย้อนกลับในช่วงเริ่มต้นของแอปพลิเคชั่นฟังใจ ซึ่งในปัจจุบันมีผลตอบรับที่ดีขึ้นมาก โดยมีพื้นที่ในเชิงของไลฟ์เฮาส์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่มากที่ศิลปินได้มีโอกาสมาแสดงดนตรีและพบกับผู้สนับสนุนผลงานเพลงได้มากขึ้น ผมมองว่าพื้นที่เหล่านี้ต้องมีมากขึ้นเพียงพอสำหรับศิลปินใหม่ ๆ ที่ยังมีผลงานเพลงไม่มากและฐานแฟนคลับที่ยังไม่เติบโต ได้สามารถมีโอกาสใช้พื้นที่นี้สำหรับการแสดง ซึ่งในส่วนนี้ยังต้องการการสนับสนุน โดยเฉพาะจากภาครัฐที่จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาท

ไม่ว่าจะภาครัฐ หรือ เอกชน ต้องรอให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นโด่งดังก่อน ไม่ว่าจะ ผู้สร้างสรรค์ผลงานในสาขาต่าง ๆ  หรือ นักกีฬา ถึงจะได้รับการสนับสนุน

การที่ผู้สนับสนุนเหล่านี้จะลงมือร่วมกันสร้างพื้นที่ ปัจจัยที่สำคัญ คือ เรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเป็นฝั่งของเอกชนในมุมมองของการตลาด จะมองถึงเรื่องของ Return on Investment – ROI  (การวัดผลตอบแทนจากการลงทุน) กล่าวคือ ถ้าลงทุนในการสร้างสรรค์พื้นที่เช่นนี้ ผลตอบรับจะกลับมาเป็นอย่างไร ผู้คนจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากน้อยเหล่านี้ได้มากแค่ไหน การเลือกผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้จำเป็นต้องผ่านกระบวนการคัดเลือดว่ามีคุณสมบัติมากน้อยแค่ไหนถึงได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่เหล่านี้โดยจะทำให้เกิดข้อจำกัด เมื่อเป็นภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน ไม่สามารถมีทุนทรัพย์มากพอที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งในบทบาทของแอปพลิเคชันฟังใจ – Fungjai ที่กำลังผลักดันสิ่งเหล่านี้โดยการพยายามสร้างทางเลือก และสร้างความน่าสนใจให้กับแพลตฟอร์มนี้ได้ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ เมื่อเป็นบทบาทของภาครัฐ โดยบทบาทนี้ยังไม่มีการสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรม เมื่อผลักดันเรื่องราวเหล่านี้ให้สร้างความเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนรวมทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น และเปลี่ยนมุมมองว่า สิ่งใดที่เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิม ๆ อะไรก็ตามที่เป็นความร่วมสมัยก็มีความเป็นไทยเหมือนกัน เพียงแต่ว่าต้องมาเปลี่ยนการนิยาม เปลี่ยนมุมมองเพื่อจะได้ทุนทรัพย์ที่จำกัดเอาไว้ เพื่อสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้กระจายไปสู่วัฒนธรรมที่ร่วมสมัยบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมเสมอไป

Skills หรือ Mindset ที่คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีสำหรับการพัฒนาตัวเอง หรือ พัฒนาผลงานต่อไปได้ในอนาคต

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรจะมี คือ เรื่องของการเข้าถึง เช่น การเข้าถึงองค์ความรู้ การเข้าถึงฮาร์ดแวร์หรือซอร์ฟแวร์ ในยุคปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นมาก ถ้าเราอยากเรียนรู้การทำเพลง สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ทั่วไปไม่ว่าจะเป็น Google เรียนรู้จากวีดีโอจาก Youtube มีซอร์ฟแวร์ต่าง ๆ ให้ดาวน์โหลดมากมาย เราอยู่ในยุคที่มีเครื่องมือได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้ง่ายสำหรับทุกคน สำหรับชนชั้นกลางสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ชนชั้นการทำงานรูปแบบหาเข้ากินค่ำอาจจะเข้าถึงซอร์ฟแวร์เหล่านี้ได้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ ในส่วนนี้รัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนได้ คือ ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงเครื่องมือและองค์ความรู้เหล่านี้ได้ เมื่อเข้าถึงง่ายแล้วแต่สิ่งที่ยังขาดคือพื้นที่ที่ช่วยเรียบเรียงชุดความรู้หรือเครื่องมือเหล่านี้ให้เป็นระบบ ถ้าเราปล่อยให้คนเหล่านี้ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลด้วยตัวเอง วันหนึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่จะอัพเกรดตัวเองให้สร้างสรรค์ผลงานตัวเองให้ดีได้โดยจะต้องอาศัยเวลาที่มากเพื่อที่จะเรียนรู้ตัวเองในการทดลองที่จะผิดพลาด ถ้ามีพื้นที่มากพอ หรือ หน่วยงานเข้ามามีบทบาทในการคัดสรรองค์ความรู้และเป็นส่วนช่วยในการแนะนำหรือเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่นมาเป็นส่วนช่วยให้เกิดผลประโยชน์สำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานและทำให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้นมากกว่าการค้นพบและทดลองด้วยตัวเอง ส่วนตัวคิดว่า จำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรเข้ามีบทบาท ในการเป็นผู้คัดกรององค์ความรู้และจัดสรรพื้นที่เหล่านี้ให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงานรุ่นใหม่ได้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเป็นระบบ โดยจะเป็นหนทางให้สามารถผลิตผู้สร้างสรรค์ผลงานยุคใหม่ ๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่องและมีๆคุณภาพ และผลักดัน Soft Power ต่อไปอย่างมีระบบได้ดียิ่งขึ้น

ในปัจจุบันมีผู้สร้างสรรค์ผลงานเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องผลักดันตลอดเวลา ทุกคนมีพลังในการสร้างสรรค์อยู่ในตัว ในปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องมือได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างเช่น การสร้างภาพยนตร์สั้นสามารถทำได้ด้วยโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว ส่วนตัวคิดว่าการริเริ่มไม่ใช่ปัญหามากไปกว่าการทำอย่างไรให้ต่อเนื่อง ทำอย่างไรให้มีชื่อเสียงมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่จำเป็นต้องมีหน่วยงานแพลตฟอร์มหรือองค์กร เข้ามามีบทบาทในการผลักดันสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ 

Ecosystem ที่ต้องมีคนเข้าใจกระบวนการ ในการผลักดันคนรุ่นใหม่

ในยุคที่ทุก ๆ อย่างมีองค์ความรู้แบบไม่สิ้นสุด คำถามที่เกิดขึ้นคือ จะเริ่มต้นอย่างไรและจะลงมือทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แน่นอนว่าถ้ามีพื้นที่หรือผู้มีประสบการณ์ทางด้านนั้นมาช่วยในการให้คำแนะนำ เพื่อที่จะทำให้ทักษะความสามารถเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในที่นี้เราอยู่ในยุคที่ “เราทุกคน ล้วนต่างลองผิดลองถูก” อยู่ค่อนข้างมากสำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานทั้งหลาย กล่าวคือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้จากกรณีศึกษาด้วยตัวเอง โดยยังไม่มีพื้นที่หรือหน่วยงานที่รองรับในการเข้าช่วยเหลือให้เกิดผลลัพธ์ที่จะทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นสร้างสรรค์ผลงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งลดข้้อผิดพลาดและมีทักษะติดตัวอยู่ตลอดเวลาได้เรื่อย ๆ จุดเล็กจุดนี้เป็นส่วนเติมเต็มที่จำเป็นต้องสนับสนุนอยู่

กระบวนการให้คำแนะนำ คือสิ่งที่สำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานรูปแบบไหนก็ตาม เรื่องของการให้คำแนะนำและพื้นที่ที่ทำให้ได้สามารถเรียนรู้จากเป็นขั้นตอน จากคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหรือคนที่เคยผิดพลาดมาก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานรุ่นใหม่ ๆ พร้อมจะลงมือทำอยู่ตลอดเวลา การที่มีพื้นที่ให้ลงมือทำและการให้คำแนะนำเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ

ผู้ชี้ทางแห่งความสำเร็จ คือ ตัวแปรสำหรับทุกสิ่ง ?

ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็นองค์กรหรือหน่วยงานเข้ามามีบทบาทที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น ผู้สร้างสรรค์ผลงานบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อก (Tiktok) ที่เริ่มจากการหยิบโทรศัพท์ของตัวเองขึ้นมาในการลองถ่ายวิดีโอในรูปแบบของตัวเอง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยการนำชุดข้อมูลเหล่านั้นมาถอดบทเรียน และศึกษาให้เข้าใจประกอบการลงมือทำ แต่สิ่งเหล่านั้นเมื่อได้เริ่มลงมือทำแล้ว เมื่อต้องการทำอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลจากองค์ความรู้ที่มีจำนวนมาก โดยผ่านการทดลองผิดถูกไปเรื่อย ๆ และไม่สามารถรู้ว่าองค์ความรู้ไหนจะได้รับประโยชน์ได้มากที่สุด หากมีหน่วยงานหรือองค์กรที่มีชุดความรู้ และคอยให้คำแนะนำพร้อมอุปกรณ์สำหรับให้ทดลองเข้าไปใช้ หรือ วิทยากรที่พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางถึงระบบอัลกอลิทึมของแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นนั้น ๆ 

สิ่งเหล่านี้ส่วนตัวผมมองว่า “ถ้าปล่อยให้ผู้สร้างสรรค์เหล่านั้นลงมือทำด้วยตัวเอง เปรียบเสมือนปล่อยคนเข้าป่าโดยที่ไม่มีแผนที่” หน้าที่ของหน่วยงานหรือองค์กรที่เข้าไปให้คำแนะนำ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการที่ทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานรุ่นใหม่ ๆ สามารถได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

.

ศรัณย์ ภิญญรัตน์

Fungjai : CEO & Co-founder

Maho Rasop : Director & Co-founder

.

#Thaicomfoundation

#มูลนิธิไทยคม

#TCFGlobalCitizen