ชื่อ วราลี เนติศรีรัฒน์ นักออกแบบการเรียนรู้และกระบวนกร (Learning Designer and Facilitator) จาก InsKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน
บทบาทของ InsKru ในการส่งเสริมการศึกษาไทยในปัจจุบัน
ถ้าพูดถึงบทบาท InsKru ในปัจจุบัน เราเป็นเหมือน Supporter ให้คุณครูได้เป็นนักริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถเป็น Support Teacher ที่จะไปสร้างการเรียนรู้ที่ปลอดภัย และ มีความหมายให้กับเด็ก ๆ ได้ โดยรูปแบบที่ทำมีหลากหลายรูปแบบ เช่น เรื่องของ Community ที่รวมคุณครู มาทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน หรือว่าเป็นเครื่องมือต่าง ๆ การจัดกิจกรรม การจัดอบรมหรือการจัด Workshop ก็เป็นรูปแบบที่ InsKru ใช้ในการ Support คุณครู
Facilitator ที่ดีต้องร่วมไปกับสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย สภาพแวดล้อมในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีเป็นอย่างไร
สภาพแวดล้อมที่ดีในการเรียนรู้ สามารถแยกออกมาได้เป็น 2 ประเด็น
– ประเด็นแรก คือ รูปแบบของ Physical คือ สิ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะเป็น อาคาร สถานที่ แสง สี อุณหภูมิ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้ทั้งหมด ยกตัวอย่างว่า “เราอยู่ในห้องเรียนที่ร้อน ๆ เราก็รู้สึกว่าเราถูกรบกวนการเรียนรู้”
– ประเด็นที่สอง คือ สภาพแวดล้อมในเชิงที่จับต้องได้ยากแต่ยังทำงานอยู่ จะเป็นสภาพแวดล้อมที่พูดถึง “ความปลอดภัยต่อความคิด และจิตใจ” เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่จะเกิดคำถามว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าสิ่งแวดล้อมตรงนี้ มันปลอดภัยในเชิงความคิดและความรู้สึกแล้ว ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้หรือตัวบุคคลเอง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะทำงานผ่านชุดคำพูด การตั้งคำถาม การทำให้เกิดบทสนทนาต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นอีกสภาพแวดล้อมในเชิงความคิดและความรู้สึกที่ต้องปลอดภัยเช่นเดียวกัน
ในเมื่อสถานศึกษาเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ทำอย่างไรให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ ในการค้นพบตัวเอง แสดงศักยภาพ และ เป็นพื้นที่ที่สามารถลองผิดลองถูกได้
พอพูดถึงสถานศึกษา เราจะมองว่า สถานศึกษา คือ โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย อันดับแรกเลย เรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นความสำคัญร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้าง หรือ นโยบายที่โรงเรียนวางเอาไว้ ณ ปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมีความพยายามที่จะทำงานเรื่องนี้ในโรงเรียนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า จะมีเรื่องอื่น ๆ ที่เข้ามาในโรงเรียนเหมือนกัน จนไม่สามารถโฟกัสได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น ถ้าจะให้สิ่งนี้เกิดก่อนเป็นอันดับแรก คนที่ทำงานในเชิงนโยบายหรือคนที่เป็นหัวหน้างาน ผู้อำนวยการต่าง ๆ จะต้องเห็นความสำคัญในประเด็นนี้ก่อน แล้วมีการวางแผนในเชิงการกระทำออกมา เพื่อให้คนที่รับงานต่อ หรือ คุณครู สามารถที่จะมีเวลาทำในเรื่องนี้ได้ก่อนในส่วนนี้คือประเด็นแรก
ในส่วนของประเด็นที่สอง คือ ในเรื่องของบุคลากรที่จะทำเรื่องนี้ให้กับเด็ก ๆ ณ ปัจจุบันเรื่องนี้ที่ InsKru ได้ทำเรื่องนี้กับคุณครูมาพบว่า เราอยากทำเรื่องนี้ให้กับเด็ก แต่ส่วนของคุณครูเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์กับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ การพัฒนาทักษะ ชุดความรู้ หรือ องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ให้กับคุณครูก่อน โดยให้คุณครูได้ติดอาวุธ พัฒนาทักษะของตัวเอง เพื่อจะสามารถใช้สิ่งเหล่านี้กับเด็กได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของสถานศึกษาจะสามารถทำในเรื่องของตัวเองพัฒนาทักษะกับตัวเด็กได้ เลยมองว่า ทั้งในเรื่องของตัวโครงสร้าง และบุคลากร จะต้องมีการเห็นความสำคัญ ต้องมีทักษะที่ตัวเองสามารถทำได้ และสิ่งที่สำคัญต้องมีความต่อเนื่องในการทำด้วย เพราะว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใช้เวลา การพัฒนาคนเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นเราจะต้องมีความต่อเนื่องยาวนาน มีการวัดผลที่ติดตามการเปลี่ยนแปลง จะทำให้เห็นว่าสถานศึกษาสามารถที่จะทำเรื่องนี้ได้
ระบบการศึกษาไม่ไว้ใจในตัวผู้เรียน ใช้มาตรฐานเดียวในการวัดศักยภาพในตัวผู้เรียน ในส่วนของความสำคัญของ Facilitator ในมุมมองของ InsKru จะส่งเสริมอย่างไรในการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เรียนรู้
ถ้าเราวัดผลในแบบเดียวกัน ซึ่งส่วนนี้ต้องยอมรับก่อนว่า เราทุกคนมีความแตกต่างกัน คือ มีที่มา มีประสบการณ์แตกต่างกัน เราควรจะต้องรับรู้และต้องยอมรับความเป็นจริง ว่าเราไม่ใช่แค่ “รู้” แต่ต้อง “เข้าใจว่าเราแตกต่างกัน” ถ้าเราเชื่อในความแตกต่าง สิ่งที่ตามมาคือ เวลาเรากระทำสิ่งบางอย่างไป สิ่งนั้นจะอยู่บนฐานของเราที่เชื่อว่า “ทุกคนมีความแตกต่างกัน” ถ้าเราคิดถึงวิธีการวัดผล ไม้บรรทัดของเราจะถูกเปลี่ยนไป ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นตามบรรทัดฐาน เพราะว่า ทุกคนเกิดมาต่างกัน ดังนั้นการวัดผลจะต้องออกแบบอย่างไร เพื่อจะอยู่บนฐานว่าทุกคนมีความแตกต่างกัน ในส่วนนี้สามารถเชื่อมโยงกับการเป็น Facilitator อย่างไร ในความเป็นจริง คำว่า การเป็น Facilitator พึ่งจะเป็นคำที่เป็น Trending Word ในการศึกษาในยุคหลัง ๆ คำนี้เกิดมาจากการที่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว รวมถึงการใช้ชีวิตแม้กระทั่ง การเรียนรู้ จะพบว่าเด็กในยุคนี้มีรูปแบบการเรียนรู้ต่างจากคนยุคก่อน เพราะว่า เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน ดังนั้น บทบาทของผู้สอน จะไม่สามารถเป็นคนถ่ายทอดเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีบทบาทเพิ่มเติมเข้ามา นั่นคือ Facilitator นิยามของคำนี้คือ ผู้อำนวยการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือมีการคิดถึงหลากหลายประเด็นว่า คนหนึ่งคนจะเรียนรู้ได้ เราจะต้องใช้ประเด็นส่วนไหน ต้องทำอะไรเพื่อให้ได้เรียนรู้ ดังนั้นบทบาทของการเป็น Facilitator เลยเริ่มมีความสำคัญ และ ถูกพูดถึงในวงการการศึกษา
แล้ว Facilitator มีความสำคัญอย่างไร ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
การเป็น Facilitator สิ่งสำคัญคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เรียนหรือผู้ที่เรากำลังเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ทำไมถึงต้องปลอดภัย ในส่วนนี้ถูกอธิบายโดยการทำงานในเชิงสมอง ปกติถ้าคนเราอยู่ในอารมณ์เชิงบวก อารมณ์ที่พร้อมต่อการเรียนรู้ เพราะว่าเรารู้สึกปลอดภัยในการอยู่ตรงนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราจะพร้อมเอาตัวเองออกมาเรียนรู้ แต่ถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่เราไม่ปลอดภัย สมองหรือการทำงานของร่างกายจะต่อต้านโดยอัตโนมัติ เพราะเรารู้สึกกลัวและอยากหนีออกจากตรงนั้น ดังนั้นคนที่เป็น Facilitator สิ่งแรกที่จะถูกพัฒนาขึ้นมา คือ การทำอย่างไรให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัย โดยไม่ได้ถูกสอนว่าจะต้องถ่ายทอดเนื้อหาอย่างไร แต่จะต้องทำอย่างไรให้รู้สึกปลอดภัย กระบวนการสอนที่ต้องออกแบบ ต้องทำอย่างไรให้ได้แสดงความคิดเห็น ความรู้สึก อย่างปลอดภัย ทำอย่างไรให้เนื้อหาที่มีมาไปได้ไกลกว่าคำว่า ความรู้ ความจำ แต่นำไปสู่ความเข้าใจและเข้าไปสู่การเรียนรู้ที่เชิงลึกยิ่งขึ้น ดังนั้นพอเสริมบทบาทของความเป็น Facilitator เข้าไป ทำให้พบว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมันค่อนข้างลึกเมื่อเทียบกับการที่เราถ่ายทอดเนื้อหาลงไป แล้วคนที่เป็น Facilitator เองจะมีทักษะหลากหลายอย่างที่ต้องฝึกฝนเพิ่มเติม ในส่วนนี้ทาง Inskru ได้คุยกับคุณครูที่ได้เข้ามาพัฒนาทักษะ จะเห็นว่า ส่วนแรกที่สำคัญ คือ การรับฟัง การพยายามทำความเข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้ง ถ้าเราติดกรอบการเป็นผู้สอนโดยปกติ เรามักจะตัดสินอะไรบางอย่างไปโดยไม่รู้ตัวว่า สิ่งที่อยู่ข้างหน้าคือเด็ก เด็กต้องเชื่อฟัง และจะต้องสอนโดยอัตโนมัติ เมื่อได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น Facilitator จะไม่ได้มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าว่าคือเด็กแล้วจะต้องสอน ต้องใส่เนื้อหา แต่มองเด็กคนนั้นเหมือนมนุษย์คนหนึ่งที่เท่ากัน แตกต่างกันเพียงแค่เชิงประสบการณ์ ดังนั้นเลยต้องเปลี่ยนวิธีการสอนไป เพราะต้องรับฟังเด็กมากขึ้น เข้าใจความรู้สึกบางอย่างที่ไม่ได้สื่อออกไปให้รับรู้ ผู้สอนจะตอบสนองได้อย่างตรงวัตถุประสงค์มากขึ้น การเลือกใช้คำถามหรือกระบวนการต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึกมากขึ้น ดังนั้นทั้งหมดนี้เป็นบทบาทสำคัญของ Facilitator ที่ทำให้การเรียนรู้ปลอดภัย และ เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ไป
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ เปรียบได้กับกระดุมเม็ดแรกในการพัฒนาหรือสร้างคน คนหนึ่งให้เติบโตได้อย่างมีความหมาย ดังนั้น การที่เราร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ต้องสร้างให้กับคุณครูก่อน เพราะว่า สิ่งนี้มีความละเอียดอ่อนมาก รวมไปถึงความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ หรือแม้แต่ประสบการณ์เก่าของคุณครู ที่เราเชื่อว่า คุณครูต้องทำตามกระบวนการที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน และเราก็ไม่ลืมไปว่าคุณครูก็เป็นเด็กน้อยคนหนึ่งที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ ที่เคยถูกกดทับความเจ็บปวดบางอย่างที่เราต้องการปลดปล่อยบางสิ่งบางอย่างก่อนที่จะไปสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นภายใต้การทำงานของ InsKru ที่ร่วมกับคุณครู การเป็นพื้นที่ปลอดภัย มีรายละเอียดที่มากมายที่ต้องร่วมทำงานกับคุณครูและสนับสนุนคุณครูต่อไปได้
ประเด็นเรื่องของการบูลลี่ ในระบบการศึกษาไทยผ่านมุมมองของ InsKru
ถ้าพูดถึงเรื่องของประเด็นเกี่ยวกับการบูลลี่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ตอนนี้ในประเทศไทยมีอัตราการบูลลี่ที่ค่อนข้างเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นระหว่าง “เด็กกับเด็ก” หรือ “ครูกับเด็ก” ก็ตาม เมื่อเราต้องการขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ให้ไกลมากขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะลงมือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่า สิ่งนั้นไม่ปลอดภัยพอที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้ เมื่อเราตั้งคำถามว่า เรื่องของการบูลลี่จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาให้คุณครูได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ได้อย่างไร อันดับแรกไม่ว่าเราจะสร้างการเรียนรู้รูปแบบใดก็ตาม เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่เหล่านี้ให้ปลอดภัยเสียก่อน ดังนั้น ถ้าทุกวันนี้พื้นที่ในโรงเรียนยังเกิดการบูลลี่กัน ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยทางความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก หรือความเป็นอัตลักษณ์บางอย่างของเรา จะทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยกับสถานที่เหล่านั้นได้ เมื่อเรามองย้อนกลับไป เมื่อเรารู้สึกไม่ปลอดภัยกับพื้นที่นั้น ๆ สมองและร่างกายของเราจะเกิดการต่อต้าน ทำให้การบูลลี่เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อไม่ปลอดภัยก็ไม่อยากเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองต่อไป เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า “ยังไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นให้เกิดความสุขได้เลย” สิ่งนี้ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงไม่ว่าเราจะพยายามขับเคลื่อนอะไรก็ตาม
โรงเรียน เท่ากับ พื้นที่ปลอดภัย
คุณครูเติบโตมาด้วยการถูกกดทับ จากความเปลี่ยนแปลง
เพราะ InsKru มองเห็นว่าการศึกษาหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งคนที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาปรับตัวไม่ทัน ทำให้ InsKru วางตัวเองว่า “เราจะเป็น Supporter ที่คอยช่วยเหลือคุณครู” ไม่ว่าโลกเราจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ยังมี InsKru ที่พร้อมซัพพอร์ตคุณครูเสมอ สิ่งหนึ่งที่ InsKru อยากให้กำลังใจหรืออยากจะบอกกับคุณครู สิ่งเหล่านี้เป็นคำที่เรามักจะใช้กับ InsKru บ่อย ๆ ว่า “ให้คุณครูอย่าลืมที่จะใจดีกับตัวเอง ค่อย ๆ พัฒนา เรียนรู้ และ เติบโต ทุกอย่างที่คุณครูพยายามปรับเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่การปรับเปลี่ยนทุกอย่าง เหมือนการทดลองที่แม้บางครั้ง เราอาจจะล้มเหลวบ้าง หรือจะประสบผลสำเร็จบ้าง แต่เราเชื่อพลังของการลงมือทำว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะเรียนรู้จากการลงมือทำเสมอ ไม่ว่าผลของการกระทำจะเป็นอย่างไรก็ตาม คุณครูยังมี InsKru เสมอ ใจดีกับตัวเอง และ InsKru จะพร้อมซัพพอร์ตคุณครูเสมอ”
วราลี เนติศรีรัฒน์
นักออกแบบการเรียนรู้และกระบวนกร – Learning Designer and Facilitator
จาก InsKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน
#Thaicomfoundation
#มูลนิธิไทยคม
#TCFGlobalCitizen
#InsKruพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน