แรงบันดาลใจจากละอ่อนสร้างบ้าน (บ้านสามขา)

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ในงานประกาศรางวัลลูกโลกสีเขียว ณ ปตท.สำนักงานใหญ่ ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล และ คุณครูศรีนวล วงศ์ตระกูล ร่วมแบ่งปันแรงบันดาลใจในหัวข้อ ละอ่อนสร้างบ้าน เป็นการเล่าถึงแรงบนดาลใจในการกลับไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงจัดการท่องเที่ยวชุมชนขึ้นที่บ้านสามขา

 

Conclusion

  • หลักสูตรห้วย สามขา เห็ด ป่า นา ข้าว เป็นหลักสูตรชุมชนที่ใช้วิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Project Based Learning ทให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือโครงงาน ทำให้เขาได้รู้จักทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อวันข้างหน้าเขาจะกลับมาต่อยอด สร้างผลัตภัณฑ์ของตนเอง
  • การเป็นบุคคลต้นแบบของ พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือคนในชุมชน เป็นสิ่งที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับเยาวชนได้เรียนรู้เป็นแบบอย่าง
  • การเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างครั้งแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ บางครั้งพลังของเด็กๆ ที่ได้ริเริ่มบางสิ่งบางอย่างอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากเมื่อผ่านไปแล้วหลายปี
  • การสร้างการมีส่วนร่วมนั้นสำคัญไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในชุมชนหรือ เยาวชน ค่อยๆ ชวนพวกเขาเข้ามารู้จักงานชุมชน
  • ภาษาที่ 2 เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ที่ใช้เพื่อการศึกษาและการสร้างงานสร้างอาชีพ

จริงๆ เราก็มาจากบ้านสามขา และก็เป็นเยาวชนรุ่นแรกของสามขาเลยที่ทำฝาย จากตอนนั้นมาก็ไกลมาก  ตอนแรกที่เริ่มทำฝายเราไม่นึกเลยว่ามันจะออกมาเป็นอะไรที่มาไกลได้มากขนาดนี้ รู้สึกว่าตอนที่ไปดูงานที่ห้วยฮ่องไคร้ ดูมาสองรอบสามรอบ ผู้ใหญ่ท่านก็บอกจะทำ แต่ก็เวลาว่างไม่ตรงกันสักที คุณแม่ศรีนวลที่เป็นครูอยู่เลยชวนเด็กๆ วันเสาร์ อาทิตย์นี้ว่างไหม อยากลองทำฝายไหม เราจะได้รู้ว่ามันเป็นยังไง

แรงบันดาลในก็คงมาจากคนใกล้ๆ ที่เหมือนเราเห็นพ่อแม่เราทำ เหมือนเห็นแม่เป็นคนทำกับข้าว ลูกก็จะทำกับข้าวเก่ง เลยรู้สึกว่าตอนที่ทำเราไม่ได้ต้องปรับอะไรเลย  เราแค่เหมือนเปลี่ยนที่ใช้ชีวิตจากบ้านไปเป็นฝาย คุณพ่อ คุณแม่ก็อยู่ที่ฝายหมด เราอยู่กันสามคนที่ฝายหมดเลย เริ่มทำตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีใจอนุรักษ์อะไรหรอก แต่รู้สึกรำคาญ วัยรุ่นใจร้อน ที่ผู้ใหญ่บอกว่าจะทำๆ เมื่อไหร่จะทำสักที ตอนที่ทำก็ยังไม่ได้วางแผนเก็บข้อมูลอะไรสักอย่าง พอเริ่มทำไปแล้วเราก็เห็นสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลง ปีแรกเราก็ยังเห็นไม่ค่อยชัดเจน พอมาปีที่ 2 ปีที่ 3 ก็เริ่มมีน้ำ เริ่มมีปลามาติดที่ฝาย เราก็เลยรู้สึกว่า ขนาดอันนี้เป็นฝายเด็กๆ ที่เราทำ โดยไม่ต้องมีทักษะ ไม่ต้องมีความแข็งแรงอะไร ผลมันยังมาถึงขั้นนี้ พอเรารู้สึกมั่นใจในผลงาน และพอเราไปเล่าต่อ จริงๆ เด็กๆ ทุกคนเป็นกระบอกเสียง ทุกคนก็กลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟังว่ามันดีแบบไหน แล้วพ่อแม่ก็จะบอกว่า “มันดีจริงหรอ?” ก็เลยเริ่มลองมาทำกัน

 

ตอนนั้นก็เลยเรียกว่าขยายจากแรงบันดาลใจที่มีอยู่ในชุมชนแล้ว แต่ว่าเริ่มลงมือทำโดยเด็ก แล้วเด็กก็เป็นผู้โฆษณาสินค้าของเขาต่อเองว่ามันดีนะลองไหม ถ้ามันเป็นฝายในแบบผู้ใหญ่ อยากรู้ไหมว่าผลมันจะเป็นแบบไหน มันก็เลยเกิดการขยาย

 

ทีนี้ในบ้านสามขาเราอยู่กัน 170 ครัวเรือน เป็นคนไทยทั้งหมด จริงๆ ก็เป็นเหมือนคนเหนือทั่วไป ไม่ได้มีความเชื่อหรือวิถีชีวิตอะไรที่เป็นพิเศษ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของคนเหนือก็คือการรวมกันอยู่แบบพี่น้อง เวลาที่เรารู้จักกันหมด พอเราคุยกันบ้านข้างๆ ก็ได้ยิน ป้าข้างบ้านมีอิทธิฤทธิ์มากในการขยายงาน ก็เลยรู้สึกว่าพอเป็นสังคมเล็ก ทำอะไรที่มันดี มันก็จะเกิดผลกระทบในทางดีมากขึ้น ถ้าทำไม่ดีก็จะออกมาเป็นอีกทางหนึ่ง เราก็เลยรู้สึกว่าการสร้างหนังตัวอย่างที่ดี ภายใต้ผู้นำที่ดีก็จะช่วยขยายงานของเราด้วย ตอนเด็กๆ เราก็ทำโดยแบบที่เอาแรงอย่างเดียว ผู้ใหญ่ก็จะเป็นหางเสือ ชวนเราคิดว่าแล้วถ้าทำแบบนั้น ทำแบบนี้จะเป็นอย่างไร ด้วยความที่เราเห็นเด็ก ลำปางสำหรับเราจึงใหญ่ที่สุดในโลกแล้วตอนนั้น เรานึกไม่ออกเลยว่ากรุงเทพฯ จะเป็นยังไง คือเรายังนึกไม่ออกว่าโลกมันใหญ่แค่ไหน

ดังนั้นคนที่เคยเห็นโลกมาก่อนก็จะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะบอกว่าโลกมันใหญ่แบบนี้นะไปดูไหม เหมือนตอนนั้นเราก็ไปได้ถึงตราด ไปถึงภาคใต้ เป็นการขยายโลกของเราให้ใหญ่ขึ้น และเราก็จะได้รู้ว่า มีงานอีกมากมายหลายอย่างมากที่เราสามารถทำได้

 

ตั้งแต่เรียนมา ประถม 1-6 ก็อยู่ที่สามขามาโดยตลอด พอมัธยมก็มาเรียนในจังหวัดลำปาง แต่ว่านั่งรถตู้ไปกลับบ้านวันละหลายร้อยกิโลเมตรทุกวัน ไม่เคยอยู่หอ และทำงานในชุมชนมาโดยตลอด เป็นพนักงานชุดแรกที่ทำ สกว. ก็เลยรู้สึกว่าคุ้นเคยกับชุมชน อยู่กับผู้ใหญ่มาตลอดก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าการกลับไปทำงานที่บ้านจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมากนัก

ตอนที่เราเรียนอยู่มัธยม ผู้ใหญ่ก็จะเป็นคนบอกเราเองว่าตอนนี้เราสามารถรับผิดชอบงาน มีขอบข่ายของงานที่เพิ่มขึ้นแล้วนะ เมื่อก่อนอาจจะแบกหินแบกปูน ตอนนี้เราสามารถมาทำบัญชีได้แล้วนะ มีทักษะเรื่องการเมินมากขึ้น ก็ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น พอเรียนมหาวิทยาลัยก็เรียนที่ลำปาง คุณแม่บอกว่าเธอเรียนลำปางนี่แหล่ะ เธอจะได้ไปกลับทุกวัน ร้อยกว่ากิโลฯ เหมือนเดิม แต่ก็เริ่มเป็นการขับรถแล้ว พอเรียนมหาวิทยาลัยก็ยังทำงานเหมือนเดิม เป็นเด็กที่ไม่เคยเรียนซัมเมอร์ เพราะช่วงปิดมหาวิทยาลัยก็จะต้องมาทำงานชุมชน

 

พอจบมาวันแรกก็ไปทำงานอยู่ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย อยู่ที่นั้น 8 ปี มั่นใจตั้งแต่วันแรกว่าเราจะกลับบ้าน วางแผนเก็บเงินเดือนตั้งแต่วันแรกเลย จริงๆ จะลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ปีที่ 4 แต่ก็ใช้เวลาตัดสินใจอีก 4 ปี

 

เลยรู้สึกว่าพอจุดมุ่งหมายของเราชัดเจนว่าเราอยากกลับบ้าน อยากกลับมาทำงานชุมชน มันทำให้เวลาที่เราใช้ระหว่างการทำงานข้างนอกมันมีความหมาย คือเสาร์อาทิตย์เราจะคิดเลยว่าถ้าในอีก 4 ปีเราจะกลับไปทำงานที่บ้าน มันมีองค์ความรู้อะไรที่เราจะเรียน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเดินทางมาจากลำปางเพื่อมาเรียนหลักสูตรดังต่อไปนี้ ดังนั้นก็จะลงเรียนทุกอย่าง ทำเล็บ ทำผม ทำขนม เรียนได้ แต่อาจจะยังทำไม่ได้

ก็มีคนบอกว่า ถ้าเราเลี้ยงเด็กให้ดี ไม่ว่าเขาจะออกไปอยู่ข้างนอก 4 – 8 ปี วันหนึ่งเขาจะกลับบ้าน เพราะว่าความเชื่อและความอยากทำมันอยู่ในตัวของเราอยู่แล้ว และจะเป็นการกลับที่ยั่งยืนและมั่นคง เพราะเรามีการเตรียมการตั้งแต่วันแรกที่เราออกจากชุมชนไปว่าเราจะกลับ กลับมาแล้วเป็นอย่างไร เราก็จะค่อนข้างมีความพร้อมในหลายๆ เรื่อง แต่ปีแรกก็จะเป็นปีเปลี่ยนผ่าน ปีแรกก็จะคิดถึงร้านสะดวกซื้อต่างๆ มากเลย เพราะในสามขา ทุกอย่างปิด 6 โมงเย็น

 

คำถามว่าทำไมถึงกลับ คำตอบก็คือเราไม่เคยคิดว่าเราจะออกไปอยู่ที่อื่นอยู่แล้ว

 

ทุกวันนี้ทำงานที่บ้านทำอะไรบ้าง ก็ทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วก็ของสามขาเราเปลี่ยนจากการดูแลสิ่งแวดล้อมมาเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ตอนนี้เราก็ทำการตลาดภายในประเทศ การตลาดหลักของเราต้องบอกว่าอยู่ต่างประเทศ

 

เราก็จะต้องคิดราคาที่ผู้ซื้อก็พอใจ ผู้ขายก็อยู่ได้ เราจะเจอแขกคนไทยที่น่ารักมากๆ คือ ก็จะเข้าใจว่าการเที่ยวชุมชนก็จะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต การดูแลสิ่งแวดล้อม ในตอนนี้ก็จะทำธุรกิจการท่องเที่ยวในชุมชน และมีหลักสูตรฝึกอบรม ที่ชุมชนจะมีศูนย์การเรียนรู้ เราก็จะจัดอบรมเรื่อง ทำอย่างไรให้มีเงินน้อยแต่มีความสุขเยอะ มีทักษะอะไรที่ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงิน แล้วเราก็ยกมาเป็นตัวอย่าง จัดเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้ผู้มาเยือนได้แลกเปลี่ยนว่าเขาจะหาความสุข หาแรงบันดาลใจจากตัวเขาเองจะมีวิธีการไหนบ้าง

 

ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างก็คงจะต้องพูดเรื่องของโรงเรียนบ้านสามขา ที่แต่เดิมนั้นมีนักเรียนเพียง 30 กว่าคน เป็นโรงเรียนที่เข้าเกณฑ์ถูกยุบ ก็ได้คณะกรรมการหมู่บ้านที่เข้มแข็งมาก ถ้ากระทรวงศึกษาจะยุบโรงเรียนก็ยุบไปเลย แต่หมู่บ้านจะหาครูมาสอนเอง เพราะว่าที่สามขาเรามีหลักสูตร ห้วย สามขา เห็ด ป่า นา ข้าว เป็นหลักสูตรที่คนสามขาจะต้องได้เรียนรู้ ว่าแต่ละอย่างมีอะไรบ้างและเราจะทำอย่างไรให้แหล่งต้นน้ำยังคงมีอยู่ และวิถีของคนสามขา เราต่อสู้บากบั่นกันมาขนาดไหนเพื่อให้เกิดความรักในความเป็นสามขา มีเรื่องเห็ด เรื่องเกี่ยวกับผ่าและข้าว ที่บ้านสามขาก็จะดังเรื่องของข้าวอินทรีย์ เพราะเราเป็นหมู่บ้านแรกที่รับน้ำจากภูเขา น้ำของเรารับประกันได้ว่าไม่มีสารตกค้าง ประกอบกับกฎของหมู่บ้านที่ห้ามใช้ยาฆ่าหญ้ากับยาฆ่าแมลงทุกชนิดทำให้ใกล้เคียงที่จะทำข้าวอินทรีย์ได้ง่ายมาก ทำให้ตอนประเมินเราปรับอีกนิดเดียวเราก็เป็นข้าวอินทรีย์แล้ว

 

ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเรายังเรียนรู้เรื่องเหล่านี้และยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นช่องทางทำมาหากินของคนสามขารุ่นต่อๆ ไป ว่ากลับมาแล้ว เราก็มีทรัพยากรที่พร้อมในการไปต่อยอดของรุ่นต่อๆ ไป

 

จริงๆ พอมีคนบอกว่าเรามีหลักสูตรของชุมชน การเรียนเราก็อาจจะไม่ดี แต่คิดว่าสาเหตุที่กระทรวงศึกษาไม่ยุบเพราะในปีที่สามขาทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา โรงเรียนบ้านสามขาได้คะแนนโอเน็ตในบางวิชาเป็นอันดับ 1 ของเขตและของจังหวัด เขาก็เลยได้รู้ว่า ถึงเราจะเรียนในสิ่งที่เหมือนเกี่ยวข้องกับชีวิตมากกว่า แต่ก็ส่งผลกลับไปที่บทเรียนอยู่ดี เพราะในบทเรียนมันก็คือ วิถีชีวิต และไม่ได้แยกออกจากกัน การเรียนแบบ Project Based Learning โดยให้เด็กๆ ได้เลือกเรื่องที่ตัวเองสนใจในหมูบ้าน บูรณาการกับวิชาพื้นฐาน ทำให้เขาเข้าใจในบทเรียน ผลการเรียนก็เลยดีขึ้นโดยที่เราไม่ได้คาดหวัง

 

จากสถิติก็พบว่า นักเรียนโรงเรียนนี้ถ้าไปสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดก็มักจะได้

ครูศรีนวลกล่าวเสริม : จากหลักสูตรที่จัดกันมาเป็นสิบปีแล้ว ก็จะเริ่มมีรุ่นที่เริ่มทำในช่วงแรก กลับมาแล้วก็มาทำโรงงานเห็ด แล้วส่งเห็ดไปขายที่ต่างประเทศ ทำให้มูลค่าของเห็ดในบ้านสามขาขึ้นสูงมาก ทุกวันนี้เขาขยายโรงงานเห็ดจากสามขาออกไปทั่วแม่ทะ ไปถึงแม่เมาะ อีกคนหนึ่งเรียนเรื่องนา ข้าว เรียนจบ ABAC เขาก็กลับมาจับงานวิจัยอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่องการทำกระดาษจากฟางข้าว แล้วก็ศึกษาในเชิงลึก แล้วก็ลาออกจากงานกลับมาเอาฟางข้าวที่เราเผาๆ กันทุกปีมาทำเป็นกระดาษ ปีนี้โรงงานเขาเปิดมาได้ 2 เดือน 6 เดือนนี้ Break even point (จุดคุ้มทุน) โรงงานอยู่ประมาณ 30 ล้าน เขาทำอย่างไร เขาบอกว่า


การทำธุรกิจทุกชนิด เขาไม่ได้ผลิตก่อน เขาไปหาตลาด ขณะที่เขาล้มลุกคลุกคลาน เขาเริ่มหาตลาดจากต่างประเทศ เป็นเรื่องบังเอิญที่เด็กสามขาทักษะทางภาษาอังกฤษจะค่อนข้างดี เพราะต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ตลอด และจากการที่เราไปจับมือกับเครือข่ายต่างประเทศเพื่อให้เขาเข้ามาจัดค่าย จัดกิจกรรมเสริมในโรงเรียนประถมของเรา ทำให้เด็กเห็นความสำคัญทางภาษา แล้วเขาไปเรียนก็จะเรียนบริหารธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ

ขอเขามาทำธุรกิจอะไรสักชนิดนึง เขาไม่ต้องมีล่ามในการนำเสนองาน งานของบ้านสามขาใช้เด็กของเราเองแล้วมันได้ใจ ได้บรรยากาศทั้งหมดเลย คนในเราพูดเรื่องของเราเองจะเจ๋งกว่าที่เราต้องไปผ่านล่าม อันนี้คือความโชคดี ในหลักสูตรของเรา

ที่นี่จึงปูเรื่องราวของบ้านสามขา ห้วย สามขา เห็น ป่า นา ข้าว ก่อนที่จะออกไปรับความรู้ รับวิชาจากโลกภายนอก แล้วกลับมาสานต่อตามสิ่งที่ตนเองสนใจ