loader image

พลังของเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และการค้นพบตัวเอง เพื่อส่งเสริมโอกาสให้กับคนไทย | The Power of Technology for Fostering Learning and Self-Discovery to Empower Opportunities.

การที่ระบบการศึกษามันไม่ตอบโจทย์เลยแล้วเด็กที่ประสบปัญหาด้านนี้ เมื่อมีทุนก็สามารถออกไปศึกษาหรือค้นพบตัวเองได้ ในขณะเดียวกันคนอื่นที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสอื่น ๆ ในการศึกษา พีพีมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้

ส่วนตัวให้ความเห็นว่าประเด็นแรกคือ เราต้องตั้งคำถามว่าจุดหมายของการศึกษาของเราคืออะไร คือตอนนี้เราอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เทคโนโลยีไม่ใช่แค่วิ่ง แต่มันคือบินด้วยสปีดที่เร็วมาก ๆ เหมือนล่าสุดอย่างระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ที่ทรงพลังมาก ๆ อย่าง GPT-4 ที่ถูกนำเสนอออกมา ซึ่งผลออกมาปรากฎว่ามันสามารถทำข้อสอบได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ข้อสอบทางการแพทย์ ทางกฏหมาย ในส่วนนี้มันทำให้คุณครูหลาย ๆ ท่านรู้สึกกังวลว่า “ข้อสอบที่ตนเองมีไม่สามารถวัดผลของเด็กได้อีกต่อไป”แต่ทำให้สะท้อนกลับมามองว่าการศึกษาจริง ๆ มันคืออะไรกันแน่ เราต้องการทำให้เด็กสอบได้ดีขึ้น หรือเราต้องการทำให้เด็กได้เรียนรู้จักตัวเองแล้วก็ทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำ

เมื่อเรากลับมามองในจุดนี้ ปัจจุบันการศึกษามันมีปัญหาและไม่ดีด้วยคุณภาพของระบบเอง หรือว่ามันไม่ดีเพราะว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ในยุคที่เรามี AI ที่มันสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ ดังนั้นเมื่อตั้งคำถามว่า “ความเหลื่อมล้ำมันมีผลกับตรงนี้ยังไง” แน่นอนว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่อาจจะมีหลักสูตรที่เป็นแบบต่างประเทศหรือว่าไปเรียนต่างประเทศแน่ ๆ เขาจะได้เห็นโลกที่กว้างกว่าคิดแต่ในขณะเดียวกัน เด็กที่อยู่ในประเทศไทยก็ยังสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลที่มันเกิดขึ้นในโลกนี้เพราะว่าเราอยู่ในโลกที่มันเต็มไปด้วยข้อมูลเต็มไปหมด

ดังนั้นสำหรับผมคิดว่าความเหลื่อมล้ำมันไม่ใช่แค่ ความเหลื่อมล้ำว่าใครได้ไปเรียนเมืองนอกหรือใครได้อยู่ในไทย แต่ว่ามันเป็นความเหลื่อมล้ำของ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ว่าใครเรียนรู้ที่จะใช้ข้อมูลได้เป็นประโยชน์มากกว่ากัน เด็กที่อยู่ในไทยต่อให้เรียนโรงเรียนต่างประเทศ แต่ถ้าเขาไม่มีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเขาก็ไม่สามารถจะเข้าไปสู่องค์ความรู้เหล่านั้นหรือว่าโอกาสในการที่เขาจะแสดงตัวเองให้โลกได้เห็น หรือได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการได้ แต่ในขณะเดียวกันเด็กที่อยู่ในชนบทถ้าเขามีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือว่ามีกระบวนการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ (Learn How to Learn) สำคัญมากเขาก็สามารถที่จะนำตัวเองเข้าไปสู่ข้อมูลคอร์สฟรีที่ MIT คอร์สฟรีที่ Harvard University เราก็สามารถจะเข้าถึงการศึกษาที่มันมีคุณภาพมากกว่าได้

ถ้าจะถามว่า “สิ่งใดคือสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมันต่างกัน” คือ ความเหลื่อมล้ำในการรู้ ที่จะเรียนรู้โดยใช้ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) เพราะว่าข้อมูลอยู่บนอินเทอร์เน็ตเพียงแต่ใครเรียนรู้ว่าจะหาวิธีเข้าสู่มันยังไงและใช้มันเป็นประโยชน์ยังไง ในส่วนนี้คือความเหลื่อมล้ำครับ

แชท GPT รูปแบบใหม่ที่ออกมา น่ากลัวสำหรับคุณครูไทยหลาย ๆ ท่าน เพราะว่าระบบปัญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต มีมุมมองอย่างไรในเรื่องนี้

สำหรับผมมองว่าในส่วนนี้เรากำลังกลับมาประเด็นว่า ระบบการศึกษามันพาเราไปสู่อะไร ถ้าการศึกษา คือสิ่งที่ให้คุณครูมาสอนนักเรียนอันนั้นมันไม่ใช่การศึกษาที่มันเหมาะกับอนาคตอีกต่อไป เพราะระบบปัญญาประดิษฐ์ จะสอนได้ดีกว่า มีข้อมูลที่หลากหลายอัพเดตใหม่ตลอดเวลา แน่นอนว่าบางครั้งอาจจะสอนผิดบ้าง ซึ่งคุณครูหลาย ๆ ท่านก็สอนผิดเยอะแยะไป แต่ว่าอันนี้เรากำลังพูดถึงการเรียนรู้แบบทางเดียวคือเด็กซึมซับข้อมูล การศึกษาที่สำคัญ ส่วนตัวผมมองว่าสิ่งนี้คือการที่ให้มนุษย์ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ไม่ว่าเขาอยากจะโตไปเป็นนักดนตรีสร้างงานที่มันสุดยอด ไปเป็นนัก พัฒนาเกมที่สนุกมาก ๆ ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบวิธีการรักษามะเร็ง หรือว่าวิศวกรที่ทำให้เราสามารถอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรงขึ้นมาก ๆ เราต้องการมนุษย์ที่มีศักยภาพเติมเต็มจินตนาการ เติมเต็มความเป็นตัวตนของเขา ดังนั้นการศึกษาถ้าเรามองแบบนี้ การที่ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามามันไม่ได้มาทดแทนคุณครู แต่ว่ามันทำให้การศึกษามันทรงพลังมากขึ้น เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในแบบที่มันเจาะจงและมีความเฉพาะตัวกับเขาได้มากขึ้น ทำให้เขาบรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเองได้เร็วขึ้น 

ในสมัยก่อนเด็กจะต้องเรียนประถม มัธยม ปริญญาตรี ยกตัวอย่างเช้น ถ้าอยากเป็นหมอคือต้องเรียนไม่รู้กี่ปีถึงจะเป็นหมอได้รักษามะเร็งได้ เดี๋ยวนี้พอเรามีระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่ทรงพลังมาก ๆ ที่ตอบคำถามได้ สิ่งนี้จะช่วยเด็กค้นหาความรู้ได้ เขาก็อาจจะสามารถรักษามะเร็งได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ในส่วนนี้คือ วิสัยทัศน์ของอนาคตว่าการศึกษาจะสร้างพลังการเรียนรู้ให้เด็กไม่จำเป็นจะต้องเรียนแบบหมื่นล้านปีแสง แต่ว่าจะทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำและค้นพบตัวเองได้เร็วและหลังจากนั้นประตูของเขามันจะเปิดกว้าง วันนี้รักษามะเร็ง พรุ่งนี้รักษามะเร็งบนดาวอังคาร ความเป็นไปได้มันจะขยายขึ้นและความเป็นไปได้มันจะมากขึ้น ส่วนตัวผมคิดว่าอันนี้มันคือเป้าหมายของการศึกษาในอนาคตที่เติมพลังให้เด็กหรือแม้แต่ใครก็ตามในอนาคต  การเรียนรู้และก็สร้างสิ่งมหัศจรรย์กับโลกนี้ได้เร็วมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือ เป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง

พีพีมีคำแนะนำอย่างไร สำหรับน้อง ๆ ที่เริ่มรู้สึกแล้วว่าตัวเองไม่เหมาะกับการศึกษาแบบนี้เลย อยากค้นหาตัวเองให้เจอบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี

แน่นอนว่าความสามารถในการที่แต่ละคนสามารถจะออกจากจุดนึงไปสู่อีกจุดนึงไม่เท่ากัน ด้วยข้อจำกัดอาจจะเป็นเรื่องทางเศรฐกิจ เรื่องของจุดที่เขาอยู่ พื้นที่ที่เขาอยู่ แน่นอนว่าทรัพยากรมันไม่เท่าเทียมกัน แต่พีคิดว่าสิ่งนึงที่มันเกิดขึ้นและก็เห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ คือการเกิดขึ้นของชุมชน หรือว่าสังคมมันค่อย ๆ ขยายตัวออก เช่น สมัยนี้เราจะเห็นคนมีกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่ม ดิสคอร์ด – Discord (ซอฟต์แวร์สำหรับการสื่อสารกันทางตัวอักษรหรือเสียงทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านทางห้องพูดคุย ในสังคมวิดีโอเกม) กลุ่มเฟซบุ๊ค – Facebook กลุ่มอินสตาแกรม – Instragram หรือกลุ่มอะไรก็ตามที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิด Community ของคนในโลกดิจิทัล ซึ่งผมมองว่าส่วนที่สำคัญที่บอกว่าเราทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย (Empathize) หรือว่าเราให้ความสำคัญกับทักษะในการค้นหาตัวเอง เพราะว่าความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้มีทรัพยากรหรือว่ามันมีสังคมที่เหมาะสมกับเราอยู่ เพียงแต่ว่าเราจะค้นหามันยังไงคือดิจิทัล คุณสามารถจะเปลี่ยนเว็บไซต์ แต่เว็บไซต์มันมีมหาศาลเราจะรู้ได้ยังไงอันไหนคือแหล่งทรัพยากร ถ้ามีอะไรที่จะเป็นปัจจัยสำคัญไปสู่การที่ทำให้คนปลดล็อกความเป็นไปได้ตรงนี้ได้คือ ทักษะในการที่เขาใช้นำทางในโลกดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าโลกดิจิทัลมันก็เป็นแค่โลกเสมือน เราต้องการคนจริง ๆ ที่เรามีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ แต่ผมคิดว่ามันก็จะเป็นก้าวแรก เมื่อเขาค้นพบว่ามันมีกลุ่มคนแบบนี้ที่พร้อมสนับสนุนเขาอยู่ หรือ มีกลุ่มคนแบบนี้ที่คิดอะไรแบบเดียวกัน มันจะเริ่มค่อย ๆ ไปต่อได้ แล้วฉันจะออกจากตรงนี้ได้ยังไง ฉันต้องเรียนอะไร มีกลุ่ม Community มากมายอย่างเช่น กลุ่ม Programer ที่มีคนมาถามกันว่า ตัวเองเป็นเด็กมัธยมแต่อยากเป็น Programer เขาจะต้องทำยังไง ก็มีคนช่วยกันมาตอบจนเต็มไปหมดเลย ดังนั้นพอเราเข้าไปอยู่ใน Community ได้แล้ว ก็จะค่อย ๆ ทำให้เราเข้าไปสู่โลกจริง แล้วเราก็จะค่อย ๆ ผสานตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราโตไปเป็นคนแบบนั้นได้ ซึ่งความยากง่ายของแต่ละคนที่จะเข้าไปอยู่ใน Community แบบนี้มันไม่เหมือนกันมันไม่เท่ากัน และแต่ละ Community ก็อาจจะมีความต้องการที่แตกต่างกันอย่างเช่น ถ้าอยากเป็นหมอคุณเข้าไปใน Facebook Group ของกลุ่มนักเรียนหมอก็ไม่ทำให้คุณกลายเป็นหมอได้เลย แต่ว่าอย่างน้อยมันจะเป็นบันไดก้าวแรกที่จะนำไปสู่บันไดก้าวต่อ ๆ ไป ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญ

.

พัทน์ ภัทรนุธาพร

นักวิจัย MIT Media Lab

.

#Thaicomfoundation

#มูลนิธิไทยคม

#TCFGlobalCitizen