มูลนิธิไทยคมร่วมกับ MIT D-Lab จากสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา และดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ได้จัดกิจกรรม Environmental Engineering and Sustainable Camp ค่ายส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการประดิษฐ์ โดยใช้แนวคิดเรื่องการประยุกต์ความรู้และกระบวนการทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อสร้างต้นแบบนวัตกรรมจากความสนใจของผู้เรียนและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านสามขา และสามเณรโรงเรียนทิพย์ปาละวิทยานุสรณ์ (วัดบ้านสามขา)
“MIT D-Lab มีสโลแกนว่า การออกแบบเพื่อโลกที่เท่าเทียม ฉันคิดว่านี่คือการรวมเอาความสนใจทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ที่นำมาประยุกต์กับเรื่องใกล้ตัว และนักเรียนก็เข้าใจได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปในบริบทของแต่ละคน รวมถึงบริบทต่าง ๆ ของโลกได้” (Claudia Cabral, MIT D-Lab)
เป้าหมายที่เรามาที่นี่ เราต้องต้องการมาเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาที่แตกต่างกันทั่วโลก โดยเฉพาะความประทับใจแรกเมื่อฉันมาถึงคือที่นี่(บ้านสามขา)เจ๋งมาก ที่ได้เห็นที่นี่เปิดกว้าง คุณสามารถสัมผัสถึงธรรมชาติได้ทุก ๆ ที่รอบโรงเรียน ที่ได้สัมผัสถึงธรรมชาติจริง ๆ ซึ่งขนาดในอเมริกาเองก็มีน้อยมาก เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ทำงานร่วมกันในหลักสูตรนี้ นี่เป็นการทำงานร่วมกันในระดับโลก เป็นการทำงานร่วมกับทีมต่างประเทศในการออกแบบบทเรียนนี้และเราหวังว่านักเรียนจะตื่นเต้นไปกับพวกเราด้วย (Alia Rizvi, MIT D-Lab)
ทีม D-Lab เองก็อยากจะเอาเรื่องของ Design Thinking Process มาลองปรับใช้กับเด็กไทยดูว่า จริง ๆ แล้วถ้าเราทำงานแบบมืออาชีพเขาทำงานกันยังไง อีกสิ่งหนึ่งคือเขาให้ความสำคัญกับเสียงเล็ก ๆ ในห้องเรียนมากเป็นอันดับที่หนึ่งเลย หรือที่เราเรียกว่า Co-Design หรือว่า Co-Create คือการออกแบบร่วมกัน การสร้างร่วมกัน เราจะสังเกตได้ทุกการประชุมตอนเย็น เขาจะอยากฟังไม่ใช่แค่เสียงของครู แต่อยากฟังเสียงเล็ก ๆ ของเด็กว่า เด็ก ๆ รู้สึกอย่างไร (ครูอิทธิชัย รัตนถาวร, ดรุณสิกขาลัยโรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้)
การเรียนรู้จากการเซอร์เวย์สิ่งรอบตัวแล้วก็เอามาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน วิธีการนี้เหมาะสำหรับคนสามขาเพราะเราเน้นสิ่งที่เป็นภูมิสังคมเราแล้วเอามาปรับใช้ เด็กก็คุ้นเคย ชาวบ้านก็คุ้นเคย เราได้เรียนรู้กับเจ้าของภาษาอังกฤษในเรื่องของการพูดเป็นทักษะในการใช้ภาษา เราได้เห็นการแก้ปัญหาของเขา เขาแก้ปัญหาได้อย่างดี และการเรียนที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา แทนที่เราจะเอาเด็กไปนั่งเรียน บรรยาย ให้ทำการบ้านเหมือนที่ส่วนใหญ่ทำ ๆ กัน กิจกรรมนี้จึงสนุกทั้งผู้เรียน เด็ก ๆจะถามว่าพรุ่งนี้ต้องมาอีกไหมมันเป็นวันเสาร์ สนุกมากอยากมาอีก อันนี้นักเรียนสามเณรที่ครูสอนอยู่ (ครูศรีนวล วงศ์ตระกูล, ชุมชนบ้านสามขา)
เครียดมากเพราะเขา(นักศึกษา MIT)เก่งมาก บางทีความคิดเราอาจจะไม่ถึงตรงนั้น แต่ว่าดีมากๆที่เขาเป็นคนที่เปิดรับคววามคิดเห็นของทุกคน บางทีความคิดของเราก็ดูโง่แต่เขาก็สามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้จริง ๆ (ศาศมณฑ์ ตันตยานุพันธ์, นักเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้)
ผมก็ดีใจครับที่ได้มาเรียนรู้ที่เราไม่เคยรู้ในโรงเรียน ที่พี่ ๆ ดรุณและพี่ ๆ MIT ได้มาสอนพวกเรา (ศิครินทร์ วงค์ษากัน, นักเรียนโรงเรียนบ้านสามขา)
ดีใจมากที่ได้ทำงานประดิษฐ์ และก็มีความรู้ด้วยครับ อยากหาประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ (ส.ณ.เอกกวี เม้ามีศรี,โรงเรียนทิพย์ปาละวิทยานุสรณ์)
สุดท้ายสิ่งที่ฉันไม่อยากให้พวกเขาลืมประสบการณ์ดี ๆ ในการทำงานร่วมกันครั้งนี้ กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นจากข้อเสนอของพวกเขาที่บอกกับครูว่าอยากจะทำอะไร แบ่งปันความคิด ปรับปรุงและพัฒนาไปด้วยกันเป็นกลุ่ม การทำงานร่วมกันและการสื่อสารที่ดี การมีวิธีคิดที่ดี ไม่ว่าเขาจะเรียนที่ไหนก็ตามในอนาคต ฉันคิดว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้เขาเติบโต นี่คือสิ่งที่สำคัญ (JoAnn Jung, MIT D-Lab)